Skip navigation.
Home

การสำรองข้อมูลแบบออนไลน์โดยใช้บริการ Cloud

การสำรองข้อมูลโดยใช้บริการ cloud คือการนำข้อมูลไปฝากไว้กับผู้ให้บริการออนไลน์ที่ให้บริการพื้นที่เก็บข้อมูล ข้อดีคือข้อมูลที่อยู่บน cloud สามารถเข้าถึงได้จากอุปกรณ์อื่นๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (เช่น โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต) อีกทั้งในบางบริการสามารถเก็บไฟล์ไว้หลายเวอร์ชัน ทำให้สามารถกู้คืนไฟล์ที่แก้ไขผิดพลาดหรือถูกลบแบบไม่ตั้งใจได้ ข้อเสียของการสำรองข้อมูลด้วยวิธีนี้คือมีโอกาสที่ข้อมูลอาจรั่วไหลได้

การสำรองข้อมูลผ่าน cloud ทำได้ทั้งการอัปโหลดไฟล์ผ่านหน้าเว็บไซต์ หรือการติดตั้งโปรแกรมเฉพาะไว้ที่เครื่องเพื่อให้ดาวน์โหลดหรืออัปโหลดไฟล์โดยอัตโนมัติ ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการสำรองและกู้คืนข้อมูลผ่านบริการ cloud ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ Microsoft OneDrive, Google Drive และ Dropbox

การดาวน์โหลด ติดตั้ง และใช้งานบริการ Cloud

เนื่องจากวิธีติดตั้งและใช้งานโปรแกรมอาจมีความเปลี่ยนแปลงหากผู้พัฒนามีการอัปเดตเวอร์ชัน เพราะฉะนั้นบทความนี้จะไม่ขออธิบายในรายละเอียดเหล่านั้น โดยผู้ใช้สามารถศึกษาวิธีดาวน์โหลด ติดตั้ง และใช้งานบริการ cloud ได้จากเว็บไซต์ของผู้พัฒนา ดังนี้

•Microsoft OneDrive มีติดตั้งมาพร้อมกับ Windows 10 อยู่แล้ว แต่หากใช้งาน Windows เวอร์ชันเก่าหรือถอนการติดตั้งออกไปแล้ว สามารถดาวน์โหลดมาติดตั้งใหม่และศึกษาวิธีใช้งานได้จาก https://onedrive.live.com/about/th-TH/download/
•Google Drive สามารถดาวน์โหลดและศึกษาวิธีใช้งานได้จาก https://support.google.com/drive/answer/2374987?hl=th
•Dropbox สามารถดาวน์โหลดและศึกษาวิธีใช้งานได้จาก https://www.dropbox.com/help/desktop-web/download-dropbox

ข้อแนะนำในการเข้ารหัสลับไฟล์ข้อมูลก่อนนำขึ้น cloud

ผู้ใช้ควรพิจารณาก่อนนำข้อมูลใดๆ ที่เป็นความลับส่งขึ้น cloud เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงเรื่องข้อมูลรั่วไหล เช่น รหัสผ่านสำหรับล็อกอินเข้าใช้งานหลุดรั่ว หรือผู้ให้บริการ cloud ถูกเจาะระบบ

เพื่อป้องกันความเสี่ยง หากต้องการอัปโหลดไฟล์ขึ้น cloud ควรเข้ารหัสลับข้อมูลในไฟล์ ซึ่งสามารถทำได้โดย
•ใช้ความสามารถเข้ารหัสลับไฟล์ข้อมูลเอกสาร ปัจจุบันซอฟต์แวร์ office เช่น Microsoft Office หรือ LibreOffice มีความสามารถในการเข้ารหัสลับข้อมูลในไฟล์อยู่แล้ว โดยสามารถตั้งรหัสผ่านได้จากหน้าจอบันทึกไฟล์ [5] [6]
•บีบอัดไฟล์แล้วใส่รหัสผ่าน โดยอาจใช้โปรแกรม เช่น 7-Zip เพื่อช่วยในการเข้ารหัสลับไฟล์ได้ [7]
•ใช้บริการเข้ารหัสลับไฟล์ข้อมูลอัตโนมัติก่อนส่งขึ้น cloud โดยปัจจุบันมีผู้พัฒนาเครื่องมือให้สามารถใช้งานในลักษณะนี้ได้ เช่น Boxcryptor เป็นต้น โดยอาจมีค่าใช้จ่ายหากต้องการความสามารถที่เพิ่มขึ้น

อ่านเพิ่มเติมที่ url : https://www.thaicert.or.th/papers/general/2017/pa2017ge002.html
ผู้เขียน: เสฏฐวุฒิ แสนนาม และ ณัฐโชติ ดุสิตานนท์
วันที่เผยแพร่: 1 มิถุนายน 2560
ปรับปรุงล่าสุด: 1 มิถุนายน 2560