AUN-4 กลยุทธ์การเรียนและการสอน (Teaching and Learning Strategy)


AUN-1 AUN-2 AUN-3 AUN-4 AUN-5 AUN-6 AUN-7 AUN-8 AUN-9 AUN-10 AUN-11

ผลการประเมินตนเอง

4

4.1 ปรัชญาการศึกษามีความชัดเจนและเป็นที่ทราบของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

    คณาจารย์ในหลักสูตรรับทราบและร่วมกันกำหนดปรัชญาการศึกษาของหลักสูตร รวมถึงได้มีการสื่อสารปรัชญาดังกล่าวรวมถึงผลลัพธ์การเรียนรู้ระดับหลักสูตร (Program Learning Outcome, PLO) ไปยังนักศึกษาในวันปฐมนิเทศน์นักศึกษาใหม่ ขณะเดียวกันในระหว่างการขอรับเสียงสะท้อน (Feedback) จากผู้ใช้บัณฑิตยังไม่ได้มีความพยายามที่จะสื่อสารปรัชญาดังกล่าวไปด้วยเช่นเดียวกัน

4.2 กิจกรรมการเรียนการสอนที่ดำเนินการนำไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง

    หลักสูตรได้มีความพยายามจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Outcome-based Education โดยมุ่งให้ผู้เรียนบรรลุผลการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ โดยใช้กระบวนการ วิธีการ และหรือกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เหมาะสมกับสภาพผู้เรียน บริบทของหลักสูตร-รายวิชา และสภาพพื้นที่การเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป โดยมีจุดมุ่งเน้น ประกอบด้วย

            4.2.1 Active Learning คณาจารย์ในหลักสูตร พยายามมุ่งเน้นการเรียนรู้เชิงรุกโดยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดโจทย์ ค้นคว้า วิเคราะห์ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Self-Construction) โดยอาจารย์พยายามปรับเปลี่ยนบทบาทจากผู้บรรยาย (Lecturer) สู่การเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Learning Facilitator) แก่นักศึกษา

            4.2.2  Sharing and Discussion เนื่องจากหลักสูตรเป็นหลักสูตรนอกเวลา และมุ่งเน้นการรับนักศึกษาที่เป็นผู้ปฏิบัติงานจริง หรือมีความสนใจการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรเข้ามาเรียนรู้ ดังนั้น คณาจารย์ในหลักสูตร จึงพยายามมุ่งเน้นให้นักศึกษานำองค์ความรู้ที่ได้รับจากห้องเรียน ผสานเข้ากับประสบการณ์ทำงานของแต่ละคน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งและกว้างขวาง และมุ่งเน้นให้เกิดการวิเคราะห์ วิพากย์ และแลกเปลี่ยนมุมมองการเรียนรู้อย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ / การถ่ายโอนความรู้ระหว่างผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            4.2.3 Problem-based Learning เนื่องจากองค์ความรู้ ทักษะ และมุมมองแนวคิดตามผลการเรียนรู้ที่หลักสูตรกำหนดไว้ จำเป็นต้องอาศัยการเรียนรู้จากปัญหาจริงในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนั้น คณาจารย์จึงพยายามจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาจริง หรือกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาต่าง ๆ ที่อาจารย์อาจมีประสบการณ์ตรง หรือจากกรณีศึกษาที่มีผู้ทำการศึกษาไว้ เพื่อให้นักศึกษาได้เกิดการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ให้เข้ากับบริบทพื้นที่ ชุมชน และเงื่อนไขต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน

            โดยสรุปแล้ว หลักสูตรใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายในการสร้างการเรียนรู้เพื่อบรรลุผลการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ ดังนี้

  • การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง
  • การอภิปรายกลุ่ม
  • การจัดทำกรณีศึกษา
  • การเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน
  • การเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐาน
  • การทำโครงการศึกษาวิจัย
  • การเรียนรู้ในพื้นที่จริง / การศึกษาภาคสนาม
  • การศึกษาดูงานในพื้นที่ / องค์กร / หน่วยงานที่เป็นแบบอย่างการปฏิบัติที่ดี
  • การบรรยายพิเศษ / การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
  • การจัดทำรายงาน
  • การทดสอบ และการใช้ feedback รูปแบบต่าง ๆ

4.3 กิจกรรมการเรียนการสอนส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต

    การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) นั้น คณาจารย์ได้ปลูกฝังทักษะการเรียนรู้ที่สำคัญ ทั้งกำหนดประเด็นการเรียนรู้ การค้นหาข้อมูล และสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง การถกเถียงและอภิปรายร่วมกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนและคณาจารย์เพื่อสร้างการเรียนรู้ของตนเอง รวมถึงการนำเสนอการเรียนรู้ที่สำคัญ ดังนั้น จึงเชื่อว่าผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามที่ต้องการได้