AUN-5 การประเมินผู้เรียน (Student Assessment)


AUN-1 AUN-2 AUN-3 AUN-4 AUN-5 AUN-6 AUN-7 AUN-8 AUN-9 AUN-10 AUN-11

ผลการประเมินตนเอง

5

5.1 การประเมินของนักศึกษาเป็นไปตามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง

     หลักสูตรได้มีการกำหนดผลการเรียนรู้ (Learning Outcomes) ที่คาดหวังของทั้งในระดับหลักสูตรและระดับรายวิชา โดยได้มอบหมายให้อาจารย์ผู้รับผิดชอบแต่ละวิชาเป็นผู้ออกแบบวิธีการประเมินผู้เรียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และผลการเรียนรู้ดังกล่าว โดยกำหนดรายละเอียดไว้ในเอกสาร มคอ.3 ตั้งแต่ก่อนเปิดภาคการศึกษา โดยประธานหลักสูตรและประธานสายวิชาจะเป็นผู้ตรวจสอบและควบคุมการจัดการเรียนรู้และการประเมินผู้เรียนให้สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ อีกทั้งกำหนดให้มีการรายงานการดำเนินการ รวมถึงข้ออุปสรรคต่าง ๆ ในการจัดการเรียนรู้และการประเมินผู้เรียนไว้ในเอกสาร มคอ.5 เพื่อใช้สำหรับการปรับปรุงการจัดการเรียนรู้ และการประเมินต่อไป

5.2  นักศึกษาทราบเกณฑ์การประเมินต่างๆ ที่ชัดเจน

     อาจารย์ผู้สอนในหลักสูตรทุกวิชา ได้แจกเอกสาร Course Outline ของรายวิชาตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นภาคการศึกษา โดยจะมีเนื้อหาประกอบด้วยวัตถุประสงค์รายวิชา หัวข้อการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ เอกสารประกอบการเรียนรู้ และวิธีการและเกณฑ์การวัดประเมินผลของรายวิชาโดยละเอียด ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้รู้ความมุ่งหวังของการจัดการเรียนการสอน รวมถึงเกณฑ์การวัดประเมินที่สะท้อนไปยังผลการเรียนรู้ (Learning Outcome) ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน

5.3 วิธีการประเมินมีความเที่ยงตรง เชื่อถือได้และเป็นธรรมสำหรับนักศึกษา

     ทุกรายวิชามีการประเมินการเรียนรู้ของนักศึกษาตามที่ได้กำหนดและแจ้งนักศึกษาไว้ โดยจะต้องมีการนำผลการประเมินการเรียนรู้เข้าสู่ที่ประชุมสายวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และที่ประชุมคณะกรรมการประจำคณะศิลปศาสตร์ โดยผู้สอนจะต้องสามารถชี้แจงการวัดประเมินได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้คณะกรรมการ/ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในระดับสายวิชา และคณะ ได้ร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมตามหลักวิชาการได้

5.4 ผลประเมินของนักศึกษาทันเวลาและช่วยในการปรับปรุงการสอน

 ทุกภาคการศึกษา มหาวิทยาลัยจะกำหนดให้นักศึกษาได้ประเมินผลการสอนของอาจารย์ผ่านระบบที่มหาวิทยาลัยกำหนด เพื่อทราบถึงความพึงพอใจและข้อเสนอแนะต่างๆ ของผู้เรียนต่อการบริหารจัดการการเรียนการสอน นอกจากนี้ หลักสูตรยังได้จัดทำการประเมินเพิ่มเติมเพื่อรับฟังเสียงสะท้อน (Feedback) เพิ่มเติมจากนักศึกษาทั้งในด้านการจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมพัฒนานอกห้องเรียน การให้คำปรึกษาของทั้งอาจารย์ประจำรายวิชา และอาจารย์ที่ปรึกษาชั้นปี รวมถึงการให้บริการและการสนับสนุนด้านต่าง ๆ  จากนั้นประธานหลักสูตรและประธานสายวิชา จะได้นำผลการประเมินของนักศึกษาหารือกับคณะกรรมการประจำหลักสูตร และอาจารย์ที่ร่วมจัดการเรียนรู้ในหลักสูตร เพื่อกำหนดแนวทางในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนต่อไป

5.5 นักศึกษาสามารถเข้าถึงการอุทธรณ์และร้องเรียนได้

     นักศึกษาของหลักสูตร สามารถใช้ช่องทางการสื่อสารที่หลักสูตร / สายวิชา / คณะ กำหนดไว้ เช่น บันทึกข้อความ แบบฟอร์ม หรือการขอพบอาจารย์ผู้สอน ประธานหลักสูตร ประธานสายวิชา และคณบดีหรือรองคณบดีที่เกี่ยวข้อง ในการร้องเรียนเรื่องการวัดประเมินผลในระหว่างภาคเรียน หรือภายหลังที่มีการให้เกรดแล้วได้โดยตรง