AUN-QA

Picture2


AUN-1 AUN-2 AUN-3 AUN-4 AUN-5 AUN-6 AUN-7 AUN-8 AUN-9 AUN-10 AUN-11


ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (สังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม)

ปรัชญา : ผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางด้านสังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม มีคุณธรรมและ จริยธรรมในการประกอบอาชีพ

ความสำคัญ : การพัฒนาประเทศในระยะที่ผ่านมา ได้นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ในการผลิตเพื่อเพิ่มรายได้ประชาชาติและยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นผลให้ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ลดน้อยและเสื่อมโทรมลง  นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการแพร่กระจายของภาวะมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ก่อปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Mega project) ที่นำไปสู่ความขัดแย้งในการแย่งชิงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนมากขึ้น

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง บัญญัติว่า “การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว” จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 มีเจตนารมณ์ เพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลในการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยกำหนดให้บุคคลได้รับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะเข้าร่วมกับรัฐหรือชุมชนหรือชุมชนท้องถิ่น ในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา การได้รับประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติสุขและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยสวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิต

ดังนั้น การจัดทำโครงการต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนนอกจากจะต้องผ่านการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้วยังต้องวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและต้องให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่เริ่มแรกและขั้นตอนต่างๆของการดำเนินโครงการ มิเช่นนั้นจะขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2  ซึ่งจะทำให้เกิดการไม่ยอมรับจากชุมชนท้องถิ่น  จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงเพื่อพยายามยุติปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นดังที่ผ่านมาในสังคมไทย

สายวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ซึ่งเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีความมุ่งหวังที่จะพัฒนาทรัพยากรบุคคลภายในประเทศให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญพิเศษทางด้านสังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อมด้านการศึกษาผลกระทบทางสังคม  สิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการพัฒนา สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงในการแก้ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม  ตลอดจนสามารถวิเคราะห์โครงการหรือกิจกรรมต่างๆ และมีทักษะในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมและการจัดการความขัดแย้งกับชุมชนท้องถิ่นอันจะก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร : 

  1. เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทั้งทางด้านทฤษฎีและการประยุกต์ใช้แนวคิดทฤษฎีในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
  2. เพื่อพัฒนาทักษะผู้เรียนให้สามารถเข้าใจและสามารถอธิบายปรากฎการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับมิติทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองและนโยบาย
  3. เพื่อผลิตมหาบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพ
  4. เพื่อพัฒนาทักษะผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถด้านการทำวิจัยทางสังคมศาสตร์